ภูมิปัญญาการทำขนมซั้ง ประวัติความเป็นมา ขนมซั้ง นับเป็นของว่างประเภทหนึ่ง มีรสจืด ทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไผ่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มัดด้วยเชือกฟาง นำไปต้มจนสุกก่อนนำมารับประทาน ชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน เรียกขนมซั้งว่าจีซั้งภาคกลางเรียกข้าวต้มน้ำวุ่นขนมซั้งเป็นขนมโบราณ ซึ่งเด็กๆ ในยุคปัจจุบันไม่ค่อยนิยมรับประทาน แต่ผู้ที่มีเชื้อสายจีนยังคงรับประทานกันอยู่ เนื่องจากเป็นขนมที่เกี่ยวข้องกับการไหว้บรรพบุรุษ คำว่า “ซั้ง” เป็นภาษาจีน (ผู้ให้ข้อมูลไม่ทราบความหมาย) จากการสัมภาษณ์นายประนอบ คงสม ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง กล่าวว่า เมื่อเก้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีชาวควนเนียงท่านหนึ่งไปทำงานเป็นลูกจ้างเจ้าสัวจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอหาดใหญ่ ต่อมาได้เรียนรู้การทำขนมซั้งและได้นำมาทดลองทำกินและทำขายในตลาดควนเนียง ปรากฏว่าชาวควนเนียงและอำเภอใกล้เคียงนิยมรับประทานกันเป็นอาหารว่าง เนื่องจากขนมซั้งมีรสชาติหวานหอม สามารถรับประทานกับน้ำชา-กาแฟ หรือจิ้มกับน้ำตาล หรือราดน้ำเชื่อมโรยเกล็ดน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังเก็บไว้ได้นานประมาณ 3-7 วัน ขนมซั้งจึงได้รับความนิยมที่ผู้มาจับจ่ายข้าวของในตลาดซื้อกลับไปเป็นของฝากขึ้นชื่อของอำเภอควนเนียงมาเกือบ 100 ปี